ROUTE 3

COAST

0/3

ชายฝั่งทะเล
แหล่งพักพิงของชีวิต

เลื่อนลงเพื่อดูต่อ ↓

รู้หรือไม่ว่า...

สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่ดูสวยงามเพลินตา
มีระบบความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน
และน่าค้นหายิ่งกว่ามิติของความงาม

แม้จะเป็นเพียงแนวปะการังเล็ก ๆ

แต่ก็หล่อเลี้ยงชีวิตสัตว์ทะเลจำนวนมาก

แม้จะเป็นเพียงแนวหญ้าทะเล

แต่ก็เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลน้อยใหญ่

แม้จะเป็นเพียง
แนวต้นไม้ริมชายหาด

แต่ก็ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินทรายและช่วยกำบังลมพายุ

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา
๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี

ตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
จังหวัดที่มีระบบนิเวศหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่า
และพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่ง
ของดินแดนคาบสมุทรไทยที่มีอาณาเขตติดต่อกับ
ทะเลฝั่งอ่าวไทยด้วย

ดินแดนคาบสมุทรภาคใต้ของไทย
ขนาบด้วยทะเลทั้งสองฝั่ง

ทิศตะวันออกนั้นเรียกว่า
“อ่าวไทย”
เป็นส่วนหนึ่งของ “ทะเลจีนใต้”

ทิศตะวันตกเรียกกันว่า
“ทะเลอันดามัน”

อ่าวไทยและอันดามัน
เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร

อยากรู้เรื่องนี้เพิ่มเติม
คลิกรับข้อมูล “ชายฝั่งคาบสมุทรไทย”

แม้ดูเผิน ๆ จะเป็นทะเลเหมือนกัน
แต่ภายใต้ผืนน้ำนั้น มีความแตกต่าง
ที่เราอาจคาดไม่ถึง

ความแตกต่างของชายฝั่งคาบสมุทรไทยทั้งสองด้านนี้เอง
ทำให้เราพบสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศที่แตกต่างกัน

เกาะใดอยู่ในเขต
ทะเลฝั่งอันดามัน

ชายฝั่งทะเลไทยทั้งสองด้านเป็น “บ้าน”
ของสรรพชีวิตใต้ทะเลที่เราสามารถพบ

สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่

สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก

หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วจนแทบมองไม่เห็น

มาสำรวจระบบนิเวศทั้ง 3 แบบ

ที่เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตบริเวณชายฝั่งทะเลกันเถอะ

ระบบนิเวศหญ้าทะเล

หญ้าทะเล เป็นกลุ่มของพืชดอกที่ปรับตัวให้ดำรงอยู่ได้ในทะเล
และจะเติบโตได้ดีในบริเวณน้ำตื้นที่มีแสงแดดส่องถึง
และเป็นพืชมีดอกกลุ่มเดียวเท่านั้นที่พัฒนากลับลงไปสู่ทะเล
หญ้าทะเลแพร่กระจายพันธุ์ อย่างกว้างขวางในเขตน้ำตื้น
บริเวณชายฝั่งทะเลเขตร้อน

ในน่านน้ำไทย มีการพบหญ้าทะเล 13 ชนิด

สามารถแบ่งประเภทตามลักษณะของใบได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่มีใบแบนยาวหรือกลมยาว อาทิ หญ้าคาทะเล หญ้าต้นหอมทะเล
หญ้าตะกานน้ำเค็ม (พบได้แค่บริเวณทะเลฝั่งอ่าวไทย) เป็นต้น
กลุ่มที่มีใบแบบสั้นรูปรี อาทิ หญ้าใบมะกรูด หญ้าเงาใส
หญ้าเงาใบใหญ่ (พบได้แค่บริเวณทะเลฝั่งอันดามัน) เป็นต้น

ระบบนิเวศหญ้าทะเล

มีความสำคัญต่อบริเวณชายฝั่งอย่างมาก เพราะเป็นบริเวณที่เหมาะกับการเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ รวมถึงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ อาทิ กุ้ง หอย และปู เป็นต้น

เป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์ทะเล และเป็นที่ซ่อนตัวของสัตว์ทะเล นานาชนิดที่เป็นสัตว์เล็กอย่าง ปลาทะเล กุ้ง และปู

นอกจากนี้ ยังช่วยลดความรุนแรงของกระแสน้ำที่พัดพาเข้าสู่ฝั่ง ลดอัตราการพังทลายของชายฝั่ง รวมถึงช่วยให้อินทรียวัตถุตกตะกอน กรองของเสีย ก่อให้เกิดการหมุนเวียนและสะสมแร่ธาตุในระบบนิเวศ

สัตว์น้ำที่พบในระบบนิเวศหญ้าทะเล

ส่วนใหญ่มักเป็นสัตว์จำพวกไส้เดือนทะเล หอย กุ้ง กั้ง ปู ปลิงทะเล ดาวทะเล และปลาหลากชนิด อาทิ ปลาหมูสี ปลาสีเสียด ปลาเห็ดโคน และปลาไส้ตัน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถพบสัตว์ขนาดใหญ่ ได้แก่ พะยูน และเต่าทะเล ที่อาศัยและหากินในบริเวณนี้

หญ้าทะเลมีส่วนช่วยในการกรอง
และปรับปรุงคุณภาพน้ำ

เพราะมีรากคอยยึดจับพื้นดิน ช่วยลดการพังทลายของหน้าดิน
ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างป่าชายเลนกับแนวปะการัง

แหล่งหญ้าทะเลตามชายฝั่งน่านน้ำไทยยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ถึง
ร้อยละ 80 ของพื้นที่ โดยมีแหล่งหญ้าทะเลที่สำคัญในบริเวณอ่าวไทย
และอันดามันหลายแห่ง อาทิ อ่าวทุ่งคา-สวี จังหวัดชุมพร
เกาะลิบง จังหวัดตรัง และเกาะศรีบอยา-เกาะปู จังหวัดกระบี่ เป็นต้น

แม้แหล่งหญ้าทะเลส่วนใหญ่ในน่านน้ำไทยจะยังคงความสมบูรณ์ แต่บางแหล่งที่เสื่อมโทรม ล้วนมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย

  • ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบริเวณชายฝั่ง ทั้งการสร้างสะพาน โรงแรม ท่าเรือ รวมถึงการปล่อยน้ำเสียของชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว
  • ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น มีผลต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล
  • การเดินเรือที่ทำให้ใบหญ้าทะเลขาดและหน้าดินถูกขุดคุ้ย
  • การประมงบางประเภท คราดหอย และเรืออวนลากขนาดเล็ก
  • น้ำเสียตามชายฝั่งทะเลจากการทำเหมืองแร่ ท่าเทียบเรือ สะพานปลา และโรงงานอุตสาหกรรม

เราสามารถดูแลและอนุรักษ์
ระบบนิเวศหญ้าทะเลด้วยวิธีง่าย ๆ

โดยการดูแลรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด บำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม

กำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ จากแหล่งหญ้าทะเล

เรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งหญ้าอย่างถูกต้อง โดยไม่ก่อการทำลาย

ระบบนิเวศป่าชายหาด

เราสามารถพบป่าชายหาดหรือสังคมพืชป่าชายหาดได้ตามชายฝั่งทะเล
ที่เป็นหาดทราย ในบริเวณที่เป็นดินทรายและน้ำทะเลท่วมไม่ถึง
เนื่องจากอยู่ใกล้ชายฝั่งพืชพรรณของป่าชายหาดจะมีลำต้นคดงอจากแรงลม
และเป็นพืชทนเค็ม (Halophytes) ซึ่งผืนดินบริเวณนี้มีความเค็ม
โดยได้รับไอเค็ม (Salt spray) จากทะเลที่พัดเข้ามา

พืชพรรณในป่าชายหาดมีระบบรากที่สามารถ
งอกออกมาได้ตามข้อ และสามารถงอกรากได้ใหม่
เมื่อรากเจริญเติบโตและถูกดินทรายพัดเข้ามาทับถม
จะพัฒนาเป็นลำต้นยึดเหนี่ยวทรายเอาไว้

หญ้าเป็นพืชเบิกนำ
ของป่าชายหาด

อาทิ หญ้าลอยลม ผักบุ้งทะเล เป็นต้น พืชเหล่านี้จะมีระบบราก
ที่ประสานกันจนเป็นร่างแหเพื่อยึดหน้าทราย
ตามเถาของผักบุ้งทะเลยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวของเมล็ดหญ้า
และไม้ใหญ่บางชนิด อย่างสนทะเล ลำเจียก เอนอ้า ฯลฯ

พืชชายหาด

อาทิ ต้นพลับพลึง รักทะเล ปอทะเล มักจะขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ
จึงทำหน้าที่เป็นเสมือนกำแพงกันคลื่นลมให้กับพืชชายหาด
ชนิดอื่น ๆ ที่ทนไอเค็มและลมได้น้อยกว่า

ป่าชายหาดมีพื้นที่ไม่มากนัก

สัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จึงมี
การเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา

บางครั้งอาจพบสัตว์ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าดิบออกมาหากินในป่าชายหาด
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สามารถพบได้ อาทิ อีเก้ง พังพอนธรรมดา
เสือปลา แมวดาว หมูป่า ลิงแสม ลิงกัง ลิ่น และกระต่ายป่า เป็นต้น

และอาจพบสัตว์ในกลุ่มหนู กระรอก หรือค้างคาว

นอกจากนี้ ยังพบสัตว์จำพวกนก อย่างนกคุ่มอกลาย ไก่ป่า
นกกวัก นกอีลุ้ม และนกในกลุ่มนกชายเลนอีกหลายชนิด

ภาคใต้มีพื้นที่ที่ยังคงสภาพเป็น
ป่าชายหาดอยู่เพียง 2,552.87 ไร่

เป็นพื้นที่รวมจาก 6 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี
ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และปัตตานี
(ข้อมูลจากโครงการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลน 2552)

เนื่องจากป่าชายหาดอยู่ติดกับทะเลจึงมักถูกทำลายและแปรสภาพ
เป็นแหล่งท่องเที่ยว บ้านเมือง และชุมชน ป่าชายหาดส่วนใหญ่
จึงมีเหลือให้เห็นเป็นหย่อมเล็ก ๆ และมีสภาพเสื่อมโทรม

แต่ในขณะเดียวกัน ป่าชายหาดที่ถูกบุกรุกและละเลย
เนื่องจากไม่มีพืชสำคัญในเชิงเศรษฐกิจ กลับมีความสำคัญอย่างมาก

เพราะนอกจากจะ

ทำหน้าที่เป็นตัวยึดหน้าดินของดินทรายแล้ว
ก็ยังเป็นแนวกำบังคลื่นลมพายุจากทะเลด้วย

เปรียบเสมือนตัวรักษาสมดุลบริเวณรอยต่อของทะเลและป่าบนบก
รวมถึงช่วยกักเก็บน้ำและความชุ่มชื้นที่มีอยู่น้อยนิดให้แก่ดินทราย
อันเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตในบริเวณนี้

ระบบนิเวศแนวปะการัง

ระบบนิเวศแนวปะการังเป็นระบบนิเวศในทะเลเขตร้อน และเป็นแหล่งอาศัย
ของสัตว์หลายชนิด โดยสัตว์ที่มีความสำคัญมากที่สุด คือ ปะการัง
แนวปะการังในประเทศไทยมักเกิดอยู่ตามชายฝั่งทะเลและชายฝั่งของ
เกาะต่าง ๆ ทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน มีลักษณะการเกิดแนวปะการัง
จากการเติบโตของสัตว์ในกลุ่มปะการังแข็งที่ทับถมกันจนเป็นโครงสร้าง
ของแนวปะการัง

แนวปะการังที่พบในประเทศไทย เป็นลักษณะของ
แนวปะการังที่ก่อตัวริมฝั่ง (Fringing reef) ตามชายฝั่งเกาะต่าง ๆ
ส่วนชายฝั่งแผ่นดินใหญ่มีแนวปะการังไม่มากนัก และมักเป็นแนวปะการังน้ำตื้น
จากการสำรวจพบว่า ในประเทศไทยมีปะการังแข็งประมาณ 300 ชนิด

แนวปะการัง เป็นระบบนิเวศเฉพาะตัว
ที่มีความอุดมสมบูรณ์เพราะมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิด
อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

เนื่องจากปะการังประกอบด้วยโครงสร้างหินปูน
ที่มีรูปทรงแตกต่างกัน ก่อให้เกิดซอกโพรง
เหมาะแก่การอยู่อาศัย หลบภัย หากิน วางไข่
และเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำนานาชนิด

จากการสำรวจพบว่า

มีปลาอาศัยอยู่ตาม
แนวปะการังกว่า 800 ชนิด

ทำให้ระบบนิเวศแนวปะการังมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่ง
ในท้องทะเล แนวปะการังบริเวณชายฝั่งช่วยป้องกันชายฝั่งจากการกัดเซาะของ
คลื่นและกระแสน้ำโดยตรงจากลมพายุในฤดูมรสุม นอกจากนี้ แนวปะการังยังเป็น
แหล่งกำเนิดทรายให้กับชายหาด ทั้งจากการสึกกร่อนของโครงสร้างหินปูน
การกัดกร่อนโดยสัตว์ทะเลบางชนิด และจากกระแสคลื่น ซึ่งทำให้หินปูนปะการัง
แตกละเอียดเป็นเม็ดทรายที่ขาวสะอาด

โดยมีการประมาณไว้ว่าแร่ธาตุแคลเซียมคาร์บอเนต
ที่ทับถมในมหาสมุทรเกิดจากแนวปะการังถึง 50%

แนวปะการังสามารถเสื่อมโทรมได้จากหลายปัจจัย
ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ ธรรมชาติ
อย่างปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว

นอกจากนี้พฤติกรรมของมนุษย์ อาทิ การพัฒนาชายฝั่ง เพื่อรองรับการ
ท่องเที่ยว กิจกรรมประมง การทิ้งขยะ และน้ำเสียจากกิจกรรมของมนุษย์ ก็เป็นปัจจัยสำคัญ
ที่กระตุ้นให้เกิดความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง

ดังนั้น

ประชาชนและนักท่องเที่ยว
จึงต้องช่วยกันอนุรักษ์แนวปะการัง

เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ โดยมีวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

เมื่อเดินเรือในทะเลใกล้แนวชายฝั่ง ให้ผูกจอดเรือไว้ที่ทุ่นไม่ทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง

ทำเครื่องหมายแสดงแนวปะการังเพื่อป้องกันไม่ให้เรือเข้ามาใกล้

ห้ามทำประมงโดยใช้ อวนลาก อวนรุน เข้ามาจับปลาบริเวณชายฝั่งที่มีแนวปะการัง

ช่วยกันส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของการรักษาปะการัง

ไม่เก็บปะการังมาขาย ทำเป็นของที่ระลึก หรืออุดหนุนสินค้าที่ทำมาจากปะการัง

ไม่ทิ้งขยะลงในท้องทะเล

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา
๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี

ยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและวัฒนธรรม
ที่เกาะบุโหลนเล จังหวัดสตูล ซึ่งมีแนวปะการังที่สวยงาม

นอกจากผู้เยี่ยมชมจะได้ศึกษาธรรมชาติแล้ว

ยังจะได้ซึมซับวัฒนธรรมของ
ชาวอุรักลาโว้ย

กลุ่มชาวเลที่อาศัยในธรรมชาติอย่างกลมกลืนอีกด้วย

รู้หรือไม่ว่า

พื้นที่ 3 ใน 4 ของโลกใบนี้
ประกอบด้วย น้ำ

ในแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นคลอง แม่น้ำ ชายฝั่ง หรือทะเลลึก
จะมีสิ่งมีชีวิตหนึ่งประเภท ที่ถ้าหากขาดไปจะกระทบต่อ
ทุกชีวิตบนโลกเลยทีเดียว

อยากรู้ว่าคืออะไร ลองส่องดูสิ

ใช่แล้ว สิ่งมีชีวิตที่ว่านั้นก็คือ แพลงก์ตอน นั่นเอง
แพลงก์ตอนบางชนิด เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่านะ
แม้ว่าจะมีขนาดจิ๋วแค่นี้

แต่ก็มีความแจ๋วขนาดที่ขาดไม่ได้เชียวนะ

แพลงก์ตอน (Plankton)

มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก แปลว่า “Drifting” หรือ “Wanderer”
ที่มีความหมายว่า ล่องลอยหรือผู้พเนจร ดังนั้นแพลงก์ตอนจึงหมายถึง
สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ล่องลอยอยู่ในน้ำตามทิศทางที่สายน้ำจะพัดพาไปโดย
ที่ไม่สามารถว่ายน้ำหรือเคลื่อนที่ได้ตามต้องการ

แพลงก์ตอนแบ่งออกเป็น 2 ชนิด โดยจำแนก
ตามลักษณะการกินอาหาร ดังนี้

แพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton)

สามารถสร้างอาหารได้เองจากการสังเคราะห์แสง
จึงมักกระจายตัวอยู่ในบริเวณที่แสงแดดส่องถึงเท่านั้น
พบได้ทั้งในน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย

แพลงก์ตอนสัตว์ (Zooplankton)

เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ล่องลอยในกระแสน้ำ ไม่สามารถสร้างอาหารได้เอง
จึงต้องกินสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอย่างแพลงก์ตอนพืช สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก
หรือสารแขวนลอยอื่น ๆ เป็นอาหาร อาทิ ตัวอ่อนของกุ้งหรือปู เป็นต้น

แพลงก์ตอนเป็นสิ่งมีชีวิต
ที่สำคัญต่อท้องทะเลอย่างมาก

โดยแพลงก์ตอนพืชเป็นผู้ผลิตขั้นต้นของห่วงโซ่อาหาร

เพราะทำหน้าที่เป็นอาหารของแพลงก์ตอนสัตว์และสัตว์ทะเลนานาชนิด รวมทั้งสัตว์ใหญ่
อย่างวาฬ ดังนั้นปริมาณของแพลงก์ตอนพืชจะเป็นตัวกำหนดปริมาณของแพลงก์ตอนสัตว์
และสัตว์ที่บริโภคต่อไปเรื่อย ๆ จนสิ้นสุดห่วงโซ่อาหาร

ทีนี้รู้หรือยังว่า

แพลงก์ตอนนั้น...

จิ๋วแต่แจ๋ว

ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่หรือเล็กจิ๋วแค่ไหน
ก็ล้วนมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทั้งสิ้น

คลิกรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแพลงก์ตอน

ถึงแพลงก์ตอนจะตัวเล็กแค่นี้

แต่นักวิจัยก็ยังสามารถค้นพบ
แพลงก์ตอนชนิดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

นักวิจัยของพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี
ได้ค้นพบแพลงก์ตอนชนิดใหม่บนโลก ชื่อว่า “ไรน้ำก้นหยัก”

สัตว์ชนิดใดไม่นับเป็น
แพลงก์ตอน

หากขาดแพลงก์ตอนไปสัตว์ในระบบนิเวศต่าง ๆ
รวมถึงมนุษย์ก็จะได้รับผลกระทบทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับทุก ๆ สิ่งในธรรมชาติของเรา
ถ้าหากขาดปูที่อยู่ในป่าชายเลน หรือค้างคาวตัวเล็กที่อาศัยอยู่ในป่า
ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตเราอย่างแน่นอน

10 สิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจในพื้นที่ชายฝั่ง

ที่หาดูได้ในพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี

หอยเต้าปูนลายหินอ่อน

วงศ์ : Conidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Conus marmoreus
ชื่อสามัญ : Marbled cone

พะยูน

วงศ์ : Dugongidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dugong dugon
ชื่อสามัญ : Dugong

ปูไก่ก้ามเรียว

วงศ์ : Gecarcinidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gecarcoidea humei
ชื่อสามัญ : Land crab

โลมาหัวบาตรหลังเรียบ

วงศ์ : Phocoenidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neophocaena phocaenoides
ชื่อสามัญ : Finless porpoise

นกนางแอ่นแปซิฟิก

วงศ์ : Hirundinidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hirundo tahitica
ชื่อสามัญ : Pacific swallow

แมงดาทะเลหางเหลี่ยม
หรือแมงดาจาน

วงศ์ : Limulidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tachypleus gigas
ชื่อสามัญ : Indo-Pacific horseshoe crab

แมงดาทะเลหางกลม หรือแมงดาถ้วย

วงศ์ : Limulidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carcinoscorpius rotundicauda
ชื่อสามัญ : Mangrove horseshoe crab

หมึกสายวงฟ้า

วงศ์ : Octopodidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hapalochlaena maculosa
ชื่อสามัญ : Blue-ringed octopus

หอยมือเสือ

วงศ์ : Tridacnidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tridacna squamosa
ชื่อสามัญ : Fluted giant clam

ปลาตีน

วงศ์ : Gobiidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boleophthalmus boddarti
ชื่อสามัญ : Blue-spotted mudskipper

5 เกร็ดความรู้เด็ด ๆ
เกี่ยวกับชายฝั่งจากนักวิจัย

รู้หรือไม่

หากแนวปะการังเสียหายและถูกทำลายจนสิ้น จะส่งผลต่อมนุษย์ทุกคนบนโลก

อ่านต่อ

รู้หรือไม่

สาหร่ายทะเลเป็นแหล่งกำเนิดออกซิเจนให้แก่โลกมนุษย์มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์

อ่านต่อ

รู้หรือไม่

หมึกเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ฉลาดที่สุด

อ่านต่อ

รู้หรือไม่

แนวชายฝั่งทะเลภาคใต้มีระยะทางกว่า 2,400 กิโลเมตร และทั้งสองฝั่งมีลักษณะไม่เหมือนกัน

อ่านต่อ

รู้หรือไม่

ภาคใต้และอ่าวไทย
เคยเป็นทุ่งหญ้ามาก่อน

อ่านต่อ

ระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งเป็นแหล่งพักพิง
สำคัญของสิ่งมีชีวิตมากมาย

ในเมื่อเรารักและหวงแหนบ้านของเรา ดังนั้น
เราควรต้องช่วยกันคุ้มครองและรักษาบ้านของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย

ปัจจุบันมีองค์กรมากมายที่เข้ามามีบทบาทหน้าที่
ในการอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งและท้องทะเล
แต่ตัวเราเองก็สามารถช่วยกันอนุรักษ์ทะเล
ได้อีกหลายวิธีเช่นเดียวกัน

ไหนมาลองดูกันว่าเรามีส่วน ช่วยอนุรักษ์ชายฝั่งด้วยวิธีไหน ได้บ้าง ?










BACK TO

SELECT ROUTE

กลับไปเลือกเส้นทางอีกครั้ง

กลับสู่หน้าหลัก
Privacy Preferences

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save