🕘 พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดทุกวันอังคาร-เสาร์ (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 9.00-16.00 น.
🇺🇸 English

ปูชนิดใหม่จากเทือกเขาในจังหวัดพัทลุง ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์จาก ม.สงขลานครินทร์

#ปูมดแดงอาจารย์ซุกรี #ปูชนิดใหม่จากเทือกเขาในจังหวัดพัทลุง
.
🦀ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์จาก ม.สงขลานครินทร์
จากการรวบรวมตัวอย่างปูจากป่าเขาแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุงโดยนายพัน ยี่สิ้น นักวิชการประมงชำนาญการพิเศษ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และร่วมตรวจสอบตัวอย่างเพื่อระบุชนิดโดย ศ.ดร.ปีเตอร์ อึง แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา Lee Kong Chian มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และนายเรืองฤทธิ์ พรหมดำ นักวิทยาศาสตร์ประจำพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้พบว่าตัวอย่างปูเหล่านั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับปูมดแดง Phricotelphusa limula (Hilgendorf, 1882) จากน้ำตกในจังหวัดภูเก็ตและพังงา คือมีลักษณะสีแดงสดตัดกับสีเขียวของพืชพรรณที่เป็นแหล่งอาศัยชัดเจน รูปทรงกระดองจะคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู และไม่มีฟันตามแนวขอบกระดอง

โดยยังไม่มีรายงานการพบปูมดแดงตามธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ อีกเลย นับเป็นการค้นพบปูในสกุล Phricotelphusa จากจังหวัดพัทลุงเป็นครั้งแรก ส่วนพื้นที่ใกล้เคียงที่สุดที่พบปูสกุลเดียวกันคือในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่พบเป็นชนิด P. aedes (Kemp, 1923) ก็สามารถระบุความแตกต่างได้ไม่ยาก ด้วยมีลักษณะโดยรวมเป็นสีน้ำตาลเข้ม อย่างไรก็ตามปูจากพัทลุงมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว เช่นฟันขอบกระดองที่บริเวณถัดออกมาจากฟันมุมเบ้าตามีลักษณะเป็นติ่งหนามยาวออกมา สันบนกระดองตอนหน้ามีร่องตื้นๆ แบ่งที่ตอนนอกของส่วนลอนคู่กลาง และด้านท้องของปูเป็นสีม่วง จึงได้ร่วมกันทำการบรรยายลักษณะ และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับปูชนิดใหม่นี้ว่า Phricotelphusa sukreei รวมทั้งตั้งชื่อไทยว่า “ปูมดแดงอาจารย์ซุกรี” เพื่อเป็นเกียรติให้กับ รศ.ดร. ซุกรี หะยีสาแม อาจารย์ อดีตคณะบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่คอยให้การสนับสนุนคณะนักวิจัยนี้เสมอมา
.
นอกจากปูมดแดงอาจารย์ซุกรีจะมึสถานะเป็นปูชนิดใหม่ทางวิทยาศาสตร์ และเป็นรายงานการพบปูสกุลนี้ในจังหวัดพัทลุงเป็นครั้งแรกแล้ว ทั้งปูมดแดงอาจารย์ซุกกรีและ P. aedes จากนครศรีฯ ยังนับเป็นรายงานการพบปูน้ำจืดที่มีแหล่งอาศัยหลักบนไม้ยืนต้นรายงานแรกของประเทศไทยอย่างเป็นทางการอีกด้วย 🦀 #PSUMUSEUM