พิพิธภัณฑ์ฯ ม.อ. ชวนน้องอาสาสมัครศึกษาธรรมชาติบนเกาะพระทอง จังหวัดพังงา ภายใต้โครงการ “ชวนน้องออกเล(พระทอง)” ปี 2565 : กะเทาะความรู้จากสะวันนาแดนใต้
พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี และศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านธรรมชาติวิทยาชั้นนำของประเทศ ที่จัดแสดงและถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา นิเวศวิทยาและการบริการ ความหลากหลายของทรัพยากรสิ่งมีชีวิตในคาบสมุทรไทยผ่านนิทรรศการที่เพลิดเพลินและสวยงาม ทั้งยังมีกิจกรรมการเรียนรู้เชิงนันทนาการหลากหลายรูปแบบแก่เยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป เป็นต้น
นอกจากนี้พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ฯ ยังดำเนินกิจกรรมวิจัยด้านอนุกรมวิธานและการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นที่สำคัญและโดดเด่นของภาคใต้ รวมถึงการบริการข้อมูลวิชาการ ให้ความรู้ทางด้านธรรมชาติวิทยา การอนุรักษ์ และการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นแก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ และยังมีงานวิจัยแผนบูรณาการ การส่งเสริมการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศในเกาะพระทองโดยบูรณาการงานวิจัยทรัพยากรท้องถิ่นและกิจกรรมชุมชนเชิงรุก ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้สนับสนุนการศึกษาความหลากหลายของของทรัพยากรท้องถิ่นในระบบนิเวศที่หลากหลายในภาคใต้ ทั้งระบบนิเวศป่าตั้งแต่ยอดเขา ถึงนิเวศถ้ำหินปูน ไปจนถึงระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งในแผนแม่บทระยะ 5 ปีที่เจ็ด (2565-2569) นี้ นักวิจัยของพิพิธภัณฑ์ฯ ก็ได้ร่วมดำเนินการเก็บข้อมูลทางด้านความหลากหลาย การกระจาย ประชากร และนิเวศวิทยาของทรัพยากรชีวภาพกลุ่มต่าง ๆ ตัวอย่างของทรัพยากรชีวภาพ และข้อมูลทรัพยากรชีวภาพในรูปแบบดิจิตอล ที่ได้มาจากการวิจัยโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยงาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเกาะพระทอง ซึ่งนำไปสู่การร่วมกันกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรชีวภาพ และการวางแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ecotourism) และสื่อเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพกลุ่มต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นจะช่วยเผยแพร่องค์ความรู้อันนำมาสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนต่อไปอีกด้วย
เกาะพระทอง เป็นเกาะหนึ่งทางด้านตะวันตกของจังหวัดพังงา อยู่ในพื้นที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ห่างจากฝั่งประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีความยาวตามแนวเหนือใต้ 15.4 กิโลเมตร ความกว้างตามแนวตะวันออกถึงตะวันตก 9.7 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 92 ตารางกิโลเมตร หรือ 57,500 ไร่
เกาะพระทอง มีระบบนิเวศที่หลากหลายและค่อนข้างสมบูรณ์ เช่น ทุ่งหญ้า แนวสันทราย ชายหาด ป่าชายเลน พรุ หญ้าทะเล และแนวปะการัง เป็นต้น ส่งผลให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสูงมาก ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก และสัตว์ป่าที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจำนวนมากที่ได้ชี้บ่งถึงความรุ่มรวยทางทรัพยากรของเกาะพระทองและการนำไปใช้ประโยชน์เชิงรูปธรรมที่นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและการดำรงชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ เกาะพระทองเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ เป็นสถานที่ประกอบอาชีพและสร้างรายได้ของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นพื้นที่เพื่อศึกษาวิจัยและติดตามประชากรของสิ่งมีชีวิตที่กระจายแคบและจำเพาะถิ่น
นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งสร้างรังวางไข่ของนกหายากที่สำคัญของประเทศ ประกอบกับปัจจุบันเกาะพระทองกำลังเป็นที่นิยมด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ มีการพัฒนาทางโครงสร้างและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ดั้งนั้นเกาะพระทองจึงมีความสำคัญต่ออนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น ควรมีการจัดการที่ดีและถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงจำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้และทำความเข้าใจถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลง การเฝ้าระวัง และแนวทางการจัดการพื้นที่เกาะพระทองผ่านกระบวนการเรียนรู้และวิจัย และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเชิงสร้างสรรค์สู่ชุมชนเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืนต่อไป